วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไวรัสตับอักเสบบี

ร้อนตับแตกยังไม่น่ากลัวเท่ากับตับแข็ง หลายคนคงเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนโน้น คนนี้ด้วยโรคตับแข็งบ้าง ท้องมานบ้าง ใครจะรู้บ้างว่าไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี เป็นที่มาของมะเร็งตับตับแข็ง ตับวาย ท้องมาน รู้แล้วจะหายร้อนตับแตกกลายเป็นหนาวสะท้าน

โรคตับอักเสบ คือ โรคที่เซลล์ตับถูกทำลายโดยเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย สารพิษ ยาบางชนิด หรือ เหล้า ที่พบมาก ๆ ในประเทศไทยคือ โรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ตับอักเสบชนิดเอ ชนิดบี ชนิดซี ชนิดดี ชนิดอี และเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกับชื่อตับอักเสบบีกันมากมายนั้นเป็นเพราะว่าในระยะยาวตับอักเสบบีจะมีผลรุนแรงกว่าตับอักเสบชนิดอื่น เชื่อหรือไม่ว่า 80 % ของผู้ป่วยมะเร็งตับนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และขณะเดียวกันผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบีก็มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับถึง 100 เท่า และที่น่าเป็นห่วงคือ 6 % ของประชากรไทยเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี

ใครเป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก็จะกลายเป็นผู้ป่วยโรคตับอักเสบบี หลังจากหายแล้วผู้ป่วยบางรายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น และประมาณ 10 – 20 % ของผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสในเลือดและตับ โดยอาจจะมีอาการตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่มีอาการก็ได้ ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นบุคคลอันตราย เพราะเขาคือพาหะของโรคตับอักเสบบี ขณะที่พาหะก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง และบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าพาหะโรคตับอักเสบบีเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่าคนอื่นถึง 100 เท่า

อาการของโรคตับอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง เบื่ออาหาร สังเกตดี ๆ อาการนี้จะแตกต่างจากคนหมดพลังเบื่องานเพราะขี้เกียจ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และยังมีไข้ต่ำ ๆ ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ที่เราเรียกกันว่าเป็นดีซ่าน อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะต้องพักผ่อนต่อไปอีกประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ จึงจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้

การติดต่อ ไวรัสตับเสบบี ติดต่อได้ง่าย ๆ ผ่านการสัมผัสเลือด น้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะ เช่น
1. การรับการถ่ายเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีไวรัสอยู่
2. การใช้เข็มฉีดยาที่มีเชื้อปนเปื้อน การเจาะหู การสัก การทำฟัน ด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
3. การใช้ของใช้ส่วนตัวบางอย่างร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของใช้ที่มีโอกาสปนเปื้อนเลือ เช่น แปรงสีฟัน ใบมีดโกน ที่ตัดเล็บ
4. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคนี้หรือผู้เป็นพาหะโรคนี้โดยไม่มีการป้องกัน
5. การจับต้อง สัมผัสกับเลือด น้ำคัดหลั่ง ของผู้ป่วยโรคนี้หรือผู้เป็นพาหะโรค ทำให้เชื้อผ่านเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลโดยไม่รู้ตัว เช่น การกัดกันเล่น ๆ ของเด็ก ๆ
6. การรับเชื้อจากแม่ขณะอยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด

การป้องกัน มีวิธีป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่มีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีน และเด็กที่เกิดในเมืองไทยนับตั้งแต่ปี พศ.2535 จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีทุกคน

อายุมากแล้วจะฉีดวัคซีนได้ไหม อายุไม่ใช่ปัญหา วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีสามารถฉีดได้กับคนทุกวัย แต่ควรจะรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับการตรวจเลือดดูว่ามีภูมิอยู่แล้ว หรือมีเชื้ออยู่ก่อนหรือไม่

กำหนดการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี มีกำหนด 3 ครั้ง ครั้งที่สองฉีดหลังจากครั้งที่หนึ่ง 1 เดือน และครั้งสุดท้ายฉีดหลังจากครั้งที่สอง 5 เดือน

ห่วงใยและแบ่งปันโดย โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info