วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก เกิดจากการขุ่นของเลนส์ตา ทำให้ผู้ป่วยมีสายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจก โดยไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใด ๆ

รู้จริงเรื่องต้อกระจก
- ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ และจะไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปยังตาอีกข้างหนึ่ง
- การใช้สายตามากๆ ไม่ใช่สาเหตุของต้อกระจก หรือทำให้อาการของโรคนี้รุนแรงขึ้น
- ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจใช้เวลานานเป็นหลายเดือน หรือหลายปีกว่าสายตาของผู้ป่วยจะขุ่นมัว มองไม่ชัด
- ต้อกระจกถือเป็นโรคที่รักษาแล้วได้ผลดี


สาเหตุของต้อกระจก
- วัย ส่วนใหญ่มาจากการเสื่อมตามวัย พบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- กรรมพันธุ์และความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ หรือมารดารับประทานยาบางชนิดในขณะตั้งครรภ์
- อุบัติเหตุ ได้รับอุบัติเหตุในตา เช่น ถูกไม้ฟาด ถูกของมีคมทิ่ม หรือเศษโลหะกระเด็นเข้าตา เป็นต้น
- โรคตา หรือโรคทางร่างกายบางโรค ที่อาจทำให้เป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ


อาการของต้อกระจก
สายตามัวเหมือนมีหมอกมาบัง
จะเกิดขึ้นช้าๆ และไม่มีอาการปวดตาในระยะแรก อาการมัวจะเป็นมากขึ้น ถ้าทิ้งไว้จนต้อกระจกสุก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ปวดตาอย่างรุนแรง และลุกลามเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน หรือม่านตาอักเสบได้

การรักษาต้อกระจก
การผ่าตัดหรือการสลายต้อกระจกเป็นวิธีรักษาที่ช่วยทำให้สายตาของผู้ป่วยใสขึ้นและมองเห็นได้ดังเดิม


การผ่าตัดต้อกระจกที่นิยมใช้โดยทั่วไป มี 2 วิธีคือ
1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้างและเย็บแผล
ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งตัวมากจนอาจไม่เหมาะกับการสลายด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ จักษุแพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม โดยเปิดแผลยาวประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเปลือกหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุง เพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผล
2. การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (PHACO)
การสลายต้อกระจกด้วยอัลตร้าซาวด์นี้ เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ มีข้อดีกว่าแบบแรกคือ

- สามารถทำการผ่าตัดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก (โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ต้อกระจกสุก)
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก (3.2-4.2 มม.) สามารถสมานได้โดยไม่ต้องเย็บแผล หรือเย็บก็เพียงเล็กน้อยในบางราย
- ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
- การมองเห็นกลับมาชัดเจนและคงที่ได้เร็วกว่า
- ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดน้อยกว่า และสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้เร็วกว่าแบบแรก


“ศูนย์ตา” โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ร่วมแบ่งปันข้อมูลสุขภาพดีๆ ให้ท่านด้วยความห่วงใย
เว็บไซต์ : www.PhuketHospital.com
อีเมล : info@Phukethospital.com

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info