วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรคกรดไหลย้อน (โรคเกิร์ด)

โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีฤทธิ์เป็นกรด (ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิค) ไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

สาเหตุ
เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนล่างของหลอดอาหาร ในคนปกติหูรูดนี้จะคลายตัวขณะกลืนอาหาร เพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะ เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะจนหมดแล้ว หูรูดนี้จะหดรัดตัวเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร

แต่ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จะพบว่ากล้ามเนื้อหูรูดจะหย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหารได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกตินั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (มักพบในรายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด

ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- การกินอิ่มมากเกินไป ซึ่งกระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก และมีการขยายตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น
- การนอนราบ โดยเฉพาะภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
- การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงเอวคับ จะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยไหลย้อน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน นอกจากจะกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย
- การกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด อาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- การสูบบุหรี่ การกินอาหารเผ็ดจัด น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว เป็นต้น จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่ หรือยอดอกหลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ หรือใส่กางเกวเอวคับ มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกไปถึงคอหอย (คล้ายอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย) หรือมีอาการจุกแน่นยอดอก (คล้ายอาหารไม่ย่อย) อาจมีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย มีก้อนจุกที่คอหอย บางรายอาจมีอาการขย้อน หรือเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น

ในบางรายอาจไม่มีอาการแสบท้อง หรือเรอเปรี้ยว แต่มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะหลังกินอาหาร หรือนอนอยู่ในท่าราบ หรืออาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปาก เสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้นตอนตื่นนอน เนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลมตอนกลางคืน

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน
- กินยาให้ครบและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
- ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดน้ำหนัก
- ให้สังเกตว่าสิ่งใดทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน ของทอด อาหารเผ็ดจัด เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ผลไม้และน้ำผลไม้เปรี้ยว ช็อคโกแลต ยาบางชนิด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณน้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบ หรือนั่งงอตัวโค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายหลังทานอาหารใหม่ๆ
- หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้หลั่งกรดมากขึ้น และอาจทำให้อาการกำเริบขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนานๆ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ที่พบได้บ่อย คือ หลอดอาหารอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร อาจมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ในที่สุดอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ กลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

โรคนี้สามารถรักษาให้หายหรือช่วยบรรเทาให้อาการทุเลาได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของตัวผู้ป่วยเอง ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นหรือหายไปได้ แต่ถ้าปล่อยให้เป็นโรคไปเรื่อยๆ ไม่กินยา และไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็มักจะเป็นรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

สนใจรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ info@PhuketHospital.com
www.PhuketHospital.com

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info