วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

โรคเบาหวาน

แม้เบาหวานจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยเบาหวานก็ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ หากคอยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
รู้จัก “ เบาหวาน ”

เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเมื่อตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอหรือสร้างไม่ได้เลย หรือสร้างอินซูลินได้แต่ออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้การเผาผลาญอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลน้อยลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้ได้อย่างเหมาะสม น้ำตาลจะค้างในเลือดมาก จึงล้นออกมาในปัสสาวะ เกิดอาการที่เรียก “ เบาหวาน ”

โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากอะไร
- กรรมพันธุ์
- ความอ้วน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง
- การตั้งครรภ์บ่อย เนื่องจากฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสร้างขึ้นมายับยั้งการทำงานของอินซูลิน
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- โรคตับ ทำให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้น้อย หรือสร้างไม่ได้เลย

ชนิดของโรคเบาหวาน
1. เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ส่วนใหญ่พบในเด็กหรือวัยรุ่น และคนรูปร่างผอม ต้องรักษาด้วยรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน และต้องฉีดทุกวันไปจนตลอดชีวิต
2. เบาหวานชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน พบมากกว่าชนิดแรกในคนอายุมากกว่า 40 ปี รูปร่างอ้วน สามารถรักษาได้ด้วยการควบคุมอาหาร หรือกินยาลดน้ำตาล แต่บางครั้งกินยาไม่ได้ผล ต้องฉีดอินซูลินด้วยเหมือนกัน

อาการของโรคเบาหวาน
- ปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำ และหิวบ่อย
- กินจุแต่อาจผอมลง น้ำหนักลด
- อ่อนเพลีย
- เป็นแผลฝีง่าย แต่หายยาก
- คันตามตัวบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สืบพันธุ์
- ปวด เจ็บตามกล้ามเนื้อ และชาตามปลายมือปลายเท้า
- ความรู้สึกทางเพศลดลง
- ตามัว ตาพร่า ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ
- ถ้าตั้งครรภ์และคลอดบุตร บุตรที่คลอดออกมาตัวจะโตกว่าปกติ (น้ำหนักเกิน 4 ก.ก.)
- บางรายพบแพทย์ด้วยอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น โรคระบบหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือสมองตีบตัน

โรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน
1. โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ได้แก่ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูงมาก ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึก ช็อกได้
2. โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ได้แก่
- ตาพร่ามัว ไม่ชัด ตาบอดได้
- ไตวายเรื้อรัง
- ปลายประสาทเสื่อม

การรักษาโรคเบาหวานเป้าหมายของการรักษาโรคเบาหวาน
- ให้ชีวิตยืนยาวที่สุด
- ปราศจากอาการต่าง ๆ ของโรคเบาหวาน
- ปราศจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
- น้ำหนักตัวไม่มากหรือน้อยเกินไป

การรักษาเบาหวาน
1. การใช้ยา
2. การปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหาร
3. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อ
- ตรวจดูระดับน้ำตาล
- ตรวจดูความดันโลหิต
- เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของเบาหวาน เช่น ไตเสื่อม จอตาเสื่อม เส้นประสาทอักเสบ

การป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน
1. ดูแลเรื่องอาหาร ควบคุมปริมาณพลังงาน (แคลอรี) และชนิดของอาหารในแต่ละวัน
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที ต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ ไม่อ้วนเกินไป
4. รับประทานยาสม่ำเสมอ
5. ใช้ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด ถ้าความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง
6. งดบุหรี่
7. ดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

แบ่งปันสาระสุขภาพดีๆ โดย "ศูนย์เบาหวาน" โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
ติดต่อสอบถามที่ info@PhuketHospital.com

http://www.phukethospital.com/eng/center_diabetes.php

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info