วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

ระวัง ไข้เลือดออก

จากสถิติการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตพบว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากเป็นอันดับหนึ่งของสามจังหวัดฝั่งอันดามัน และสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจึงขอนำรายละเอียดเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมาแบ่งปันด้วยความห่วงใย การป้องกันคือสิ่งที่ง่ายที่สุด ขอฝากให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดูแลป้องกันตนเองและญาติจากการถูกยุงกัด

รคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นตัวนำโรค การติดเชื้อพบได้ตลอดปี แต่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน

อาการของโรคไข้เลือดออก
ระยะไข้ จะมีไข้สูงติดต่อกันนาน 2-7 วัน ไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ ระยะนี้การตรวจร่างกาย หรือตรวจเลือดโดยทั่วไปยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ แต่ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาเชื้อของโรคไข้เลือดออกได้อย่างรวดเร็ว ด้วยวิธี PCR detection for Dengue Virus RNA ที่สามารถตรวจพบเชื้อไข้เลือดออกได้ในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือมีอาการที่ยังไม่ชัดเจนได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ได้รับเชื้อ ส่งผลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เพราะวิธีการนี้สามารถระบุชื่อของเชื้อไข้เลือดออกที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ได้ชัดเจน ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตเป็นโรงพยาบาลเดียวในภูเก็ตที่สามารถให้บริการตรวจหาโรคไข้เลือดออกโดยวิธี PCR detection for Dengue Virus RNA
ระยะวิกฤติ เป็นระยะที่มีความสำคัญที่สุด ผู้ป่วยระยะนี้จะมีการลดลงของเกร็ดเลือดอาการไข้ลดลง แต่อาการทั่วไปแย่ลง เช่นมี อาเจียน ปวดท้อง ตับโต กดเจ็บ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ซึม อ่อนเพลีย มีเลือดออกตามผิวหนัง เยื่อบุ หรืออวัยวะภายใน มีผื่นแดงจางตามผิวหนัง ระยะนี้จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ระยะพักฟื้น ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เริ่มกินอาหารได้ ปัสสาวะมากขึ้น มีผื่นแดงคันตามผิวหนังมากขึ้น ระยะนี้เกร็ดเลือดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนเข้าสู่ระดับปกติใน 7 วัน จึงยังต้องระวังภาวะเลือดออกต่อไปอีก 1 สัปดาห์


ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีไข้ในระยะโรคไข้เลือดออกระบาด
1) ควรใช้ยาลดไข้ด้วยความระมัดระวัง ยาลดไข้บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ในระยะวิกฤติ
2) ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้ หรือสารละลายเกลือแร่ ในระยะที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
3) ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ควรพาไปพบแพทย์

4) งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มี่สีแดง น้ำตาล ดำ เพื่อสังเกตอาการเลือดออกจากทางเดินอาหาร

การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ได้แก่ ภาชนะที่มีน้ำขังต่างๆ ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน เช่น โอ่งน้ำ ถังน้ำในห้องน้ำ ห้องส้วม แจกัน จานรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์ อ่างบัว ฯลฯ
2. นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุงกัดโดยเฉพาะเวลากลางวัน
3. ทายากันยุงป้องกันยุง โดยเลือกให้เหมาะสมกับเด็ก
4. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ปราศจากกลิ่นเหงื่อไคล เพราะกลิ่นเหงื่อจะดึงดูดยุงเข้ามากัดมากขึ้น
5. กำจัดยุงลายโดยใช้สารเคมี กับดักไฟฟ้า และอุปกรณ์กำจัดยุงต่าง ๆ

ประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรทราบและให้ความสำคัญในระดับสูงคือการดูแลและเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้สึกว่าผู้ป่วยดีขึ้นเมื่อไข้ลด แต่กรณีของไข้เลือดออกนั้นไม่ใช่ การที่จู่ๆ ไข้ลดลงนั้นอาจจะหมายถึงผู้ป่วยมีอาการช็อกในระยะวิกฤติ ดังนั้น หากมีอาการไข้ให้รีบพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในกรณีที่ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นไข้เลือดออก ผู้ป่วยอาจจะได้รับคำแนะนำให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อการเฝ้าระวังอาการช้อกที่อาจจะเกิดขึ้น


โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจัดอบรมให้กับ พยาบาลและเจ้าหน้าที่เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคไข้เลือดออก รวมไปจนถึงการเพิ่มทักษะในการสังเกตอาการในระยะต่าง ๆ ของโรคไข้เลือดออก เพื่อเตรียมรับมือกับโรคไข้เลือดออกที่กำลังมาพร้อมหน้าฝนนี้ อนึ่งการสังเกตเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องในระยะแรกมีความสำคัญเนื่องจากการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็วจะช่วยลดความรุนแรงป้องกันภาวะช็อกและการเสียชีวิตได้ฉะนั้นการเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยไข้เลือดโดยผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการรักษาชีวิตผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info