วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชิคุนกุนยา : โรคร้ายที่มาพร้อมกับยุงลาย

เมื่อเร็วๆ นี้เราคงได้ยินข่าวว่าเกิดการแพร่ระบาดของ "โรคชิคุนกุนยา" ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนแปลกใจไม่น้อยว่า นี่คือโรคสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ วันนี้โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตอาสาคลายข้อสงสัย ด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับ "โรคชิคุนกุนยา" มาบอกต่อกันค่ะ

สาเหตุของโรค
โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบการระบาดมากในฤดูฝนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุงลาย


การติดต่อของโรคชิคุนกุนยา
การติดต่อของโรคชิคุนกุนยาเกิดขึ้นเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสนั้นจะไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นในตัวยุง และเมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาได้

ทั้งนี้โรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัว 1-12 วัน แต่ช่วง 2-3 วันจะพบบ่อยที่สุด ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 จะเป็นช่วงที่มีไข้สูง มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก และสามารถติดต่อกันได้หากมียุงลายมากัดผู้ป่วยในช่วงนี้ และนำเชื้อไปแพร่ยังผู้อื่นต่อ

อาการของโรคชิคุนกุนยา
ผู้ที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับโรคไข้เลือดออก หรือหัดเยอรมัน แต่จะไม่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก

โรคชิคุนกุนยาสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่า คือมักจะมีอาการปวดข้อทั้งข้อมือ ข้อเท้า และเป็นข้ออักเสบตามมาด้วย ซึ่งมักจะเปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดไปเรื่อยๆ บางครั้งมีอาการรุนแรงมากจนขยับข้อไม่ได้ แต่จะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะปวดเรื้อรังอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้


การป้องกันและการรักษา
ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น หากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ หรือหากปวดข้อก็ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการ การป้องกันตนเองก่อนเกิดโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
1. ควรนอนในมุ้งหรือห้องนอนที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
2. หากมีไข้ควรกินยาลดไข้ ห้ามกินยาจำพวกแอสไพรินเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย
3. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อกางเกง ขายาวเวลาเข้าสวน หรือทายากันยุง เช่น ตะไคร้หอม
4. หากมีไข้สูง ปวด หรือบวมตามข้อเฉียบพลัน และมีผื่นแดงตามร่างกายร่วมกัน ให้สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
5. กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องอันเป็นตัวพาหะนำโรค หมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุ่ม รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย

ด้วยวิธีการง่ายๆ เหล่านี้ จะสามารถช่วยเราให้ป้องกันโรคได้ถึง 2 โรค คือ "ชิคุนกุนยา" และ "ไข้เลือดออก"


จะเห็นว่าแม้โรคชิคุนกุนยาจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คนป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และความรำคาญใจจากอาการปวดได้ ดังนั้นเราจึงควรป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคชิคุนกุนยาไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ

แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้คุณด้วยความห่วงใย โดย โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
http://www.phukethospital.com/

info@PhuketHospital.com


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผู้ช่วยพยาบาล แวะมาดูค่ะ

 
ThaiBlog.info