วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ

ประเภทของผู้ป่วย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้ ลูกโป่ง (PTCA)
2. ผู้ป่วยที่ผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด (CABG) หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

สรีระวิทยาของการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายทำให้เกิดกระบวนการใช้พลังงานของร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความหนัก เบา ของร่างกาย ประเภทของการออกกำลังกาย และระยะเวลาที่ใช้ เช่น การวิ่งเร็วร่างกายจะใช้พลังงานสูงสุด การเดินช้าๆ จะใช้พลังงานน้อยกว่า
การออกกำลังกายต่อเนื่องมากกว่า 3 นาที จะเกิดกระบวนการออกกำลังกายแบบแอโรบิค หมายถึงกระบวนการที่ร่างกายต้องการออกซิเจนมาช่วยในการออกกำลังกาย ดังนั้นร่างกายจะปรับสมดุลย์โดยการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น
การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมอจะมีผลให้ร่างกายมีการปรับตัวตอบสนอง ดังนั้นการฝึกออกกำลังกายแบบแอโรบิค จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพหัวใจและระบบการไหลเวียนของโลหิต นอกจากนี้การออกกำลังกายต้องเข้าใจถึงระดับความหนัก เบา และระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสภาพของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป เช่น อายุ โรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ หรือโรคหัวใจ เป็นต้น

หลักการออกกำลังกายมี 4 ประการ
1. ชนิดของการออกกำลังกาย ต้องเป็นแบบที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อนานเกินไป หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเท่านั้น การออกกำลังกายที่ดี หมายถึงการออกกำลังกายโดยใช้ทุกส่วนของร่างกาย แขน ขา ทั้งสองข้าง เช่น การเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ แล้วแต่ความถนัด หรือความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
2. ความถี่ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรกระทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป
3. ระยะเวลา ควรกำหนดเวลาตามความเหมาะสมของแต่ละราย และไม่ควรน้อยกว่า 30 นาที และเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึง 45 นาที
4. ความหนักเบา มีการกำหนดได้หลายวิธี เช่น ใช้การวัดอัตราการเต้นของชีพจร หรือชีพจรเป้าหมาย

ข้อควรปฏิบัติก่อนออกกำลังกาย
1. รับประทานอาหารก่อนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ควรงดการดื่มชา หรือกาแฟ
2. การแต่งกายต้องเหมาะสม เสื้อผ้า รองเท้า ไม่ควรรัดแน่นเกินไป
3. เลือกสถานที่อากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจัด และอากาศถ่ายเทได้ดี
4. ห้ามออกกำลังกายขณะมีไข้
5. ก่อนการออกกำลังกายควรทำการอุ่นเครื่อง (Warm Up) และหลังการออกกำลังกายควรทำการผ่อนคลาย (Cool Down)

ข้อควรระมัดระวังขณะออกกำลังกาย
· เจ็บหน้าอก แน่น จุก
· หน้ามืด เวียนศีรษะ ง่วงนอน
· ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
· เหงื่อออกมากผิดปกติ
· หากมีอาการต้องหยุดรอจนกว่าจะเป็นปกติ หากอาการยังมีอยู่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
· ในผู้ป่วยโรคหัวใจควรมีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและความปลอดภัยภายใต้การควบคุมดูแลของผู้
ชำนาญการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ info@PhuketHospital.com
หรืออ่านรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์หัวใจ รพ.กรุงเทพภูเก็ตได้ที่ http://www.phukethospital.com/eng/center_heart.php

ไม่มีความคิดเห็น:

 
ThaiBlog.info