การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจที่มีความแม่นยำสูง และมีความปลอดภัย
วิธีการตรวจ
โดยการใช้สายสวนขนาดเล็ก (โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม.) ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ (ซึ่งนิยมมากที่สุด) ข้อพับแขน หรือข้อมือไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทั้งซ้ายและขวา ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ (หรือ "สี") ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตัน การฉีดสีก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีกว่าเป็น ณ บริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด ทั้งนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ อีกด้วยว่าควรจะแก้ไข หรือรักษาด้วยวิธีใดให้เหมาะสม และเกิดผลแก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด
ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน ขณะทำไม่มีการใช้ยาสลบแต่อย่างใด จะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ขณะตรวจผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จเรียบร้อย ท่านก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที
เมื่อไหร่ที่ต้องตรวจด้วยการสวนหัวใจและขยายหลอดเลือด?
1. เจ็บแน่นหน้าอก เมื่อออกกำลังกายหรือในขณะใช้ชีวิตประจำวัน และพบความผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จากการตรวจด้วยการวิ่งสายพาน
2. มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
3. มีภาวะของโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
4. มีภาวะของโรคหัวใจตีบ เป็นต้น จากการตรวจ Echocardiogram
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
1. ท่านจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ให้งดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
2. ทุกท่านจะต้องลงชื่อในใบยินยอมก่อนการตรวจสวนหัวใจ
3. หากท่ามีประวัติแพ้ใดๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือมีประวัติเลือดออกแล้วหยุดยาก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
4. หากท่านมีประวัติการตรวจอื่นๆ ที่ยังเก็บไว้เอง เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ ผลการตรวจเลือดเร็วๆ นี้ ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลการตรวจสมรรถภาพของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หรือ ผลการตรวจ Echocardiography ควรนำมาให้แพทย์ดูก่อนหรือในวันตรวจด้วย
5. อื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
การดูแลตนเองหลังการขยายหลอดเลือด
หลังการขยายหลอดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้ และคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น ในระยะ 1-2 วันแรก ผู้ป่วยไม่ควรเดินบ่อย และไม่ควรให้แผลถูกน้ำใน 4-5 วันแรก ผู้ป่วยจะได้รับยารับประทานคล้ายกับก่อนการขยายหลอดเลือด และจะต้องป้องกันการตีบซ้ำโดยเฉพาะการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
1. ดูแลเรื่องอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์ แป้ง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานด้วย อาหารเค็ม โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. ออกกำลังกาย ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ ควรหยุดเมื่อเริ่มมีอาการแน่นที่หน้าอก หรือมีอาการผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เหนื่อยมาก
3. งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ บุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง
4. หลีกเลี่ยงน้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้อาการหลอดเลือดหัวใจตีบกำเริบขึ้น
5. ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด หาเวลาพักผ่อน ความเครียดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาการกำเริบ ควรหาเวลาพักผ่อน เพราะการอดนอนจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำงานอดิเรกที่ชอบ
6. ควบคุมโรคหรือภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น
แบ่งปันสาระความรู้ด้านสุขภาพ โดย "ศูนย์หัวใจ" โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
ปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ info@PhuketHospital.com
www.PhuketHospital.com
วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น